มจพ. หนุนดาวเทียมนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน พัฒนา KNACKSAT-2 TGPS เตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศปี 2566
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ภายใต้การนำของ ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีและคณะผู้บริหาร ได้สนับสนุนโครงการสร้างดาวเทียมของนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (KNACKSAT-2 TGPS) โดยร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนรวม 6 หน่วยงาน ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักเรียนเพื่อออกแบบพันธกิจในอวกาศ พัฒนา Pay load นำขึ้นไปทดสอบในอวกาศ มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ 22 คน ซึ่งจะได้รับองค์ความรู้การพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กและฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม โดยมีอาจารย์ ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ และรักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) ผศ.ดร.เสาวคนธ์ คุณวุฒิ ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) และคณาจารย์จากโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ร่วมถ่ายทอดความรู้และเตรียมส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศในปี 2566 ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการนี้นักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ให้สัมภาษณ์ถึงความประทับที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจสร้างดาวเทียม KNACKSAT-2 TGPS
นายจิระภาคย์ พรอนันตโรจน์ (ซีอีโอ) นักเรียนชั้นปีที่ 2 เล่าให้ฟังว่า “ผมได้ทำงานอยู่ในฝ่าย material ซึ่งมีหน้าที่ในการหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวัสดุในการทำแผ่นป้องกันรังสี สิ่งที่คาดหวังจากการทำดาวเทียมในโครงการนี้คืออะไร? นี่เป็นคำถามที่ผมเจอตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์เข้าโครงการอบรมสร้างดาวเทียม ซึ่งตอนนั้นผมได้พูดไปว่า สิ่งที่ผมอยากได้จากการทำดาวเทียมคือ ความสนุกที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ และประสบการณ์ความท้าทายที่คิดว่าในชีวิตนี้ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ทำอีกไหม และความรู้ที่เราไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน ต่อมาเมื่อผมได้เข้ามาอยู่ในโครงการ ผมก็ได้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจริงๆ อีกทั้งยังได้ทำงานในระบบที่ไม่เคยทำกับงานอื่นมาก่อน คือระบบการทำงานแบบบริษัท เช่น การนำเสนองาน การสรุปความคืบหน้าของงานในแต่ละสัปดาห์กับหัวหน้าฝ่าย และการทำงานที่แบ่งเป็นแผนกต่างๆ อีกทั้งได้พัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย” ซีอีโอกล่าว
นางสาวภิรญาณ์ ตรีพนกร (แก้ม) นักเรียนชั้นปีที่ 3 เล่าว่า “ตอนที่อาจารย์ส่งประกาศรับสมัครนี้ ก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี จึงมาลองสมัครดู พอได้มาร่วมโครงการแล้วได้เจอเพื่อนๆ ที่ร่วมโครงการเดียวกัน ทุกคนน่ารัก และสนิทกันเร็วมากทำให้การทำงานราบรื่น ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ถ้ามีปัญหาทุกคนจะใช้วิธีคุยกันตรงๆ และปรับความเข้าใจกัน เมเนเจอร์ของทีมจัดการแบ่งงานได้เป็นอย่างดี” แก้มกล่าว นายณัฏฐ์วิชชา พึ่งใหญ่วัฒนะ (นต) นักเรียนชั้นปีหนึ่งเล่าว่า “ผมอยู่ทีม Structure รับหน้าที่ Design material โดยความสามารถที่ผมถนัดคือการเรียนรู้ครับ ผมสามารถทำความเข้าใจได้เร็วและประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้ช่วยให้ผมได้ศึกษาความรู้ด้านใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้มีโอกาสนั่นก็คือความรู้เกี่ยวกับ เทคโนโลยีอวกาศ ฟิสิกส์ เคมี รังสี ที่เกี่ยวข้องกับด้านอวกาศ แถมการทำงานในโปรเจกต์ครั้งนี้ยังเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดของผมด้วยเป็นครั้งแรกของผมที่ได้ทำงานร่วมกับรุ่นพี่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ต้องปรับตัวเข้าหากันทำความรู้จักกัน แต่ผมก็มีแนวคิดที่เรียนรู้มาจากคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คนว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากก้าวเล็กๆ ทำความรู้จักกันไปทีละนิด ไม่หยุดและไม่ยอมแพ้ จนตอนนี้ผมมีความมั่นใจและเชื่อมั่นทีมของพวกเราเป็นอย่างมากว่าเราจะสามารถทำโปรเจกต์นี้ให้ออกมาสำเร็จได้แน่นอนครับ” นต กล่าว และคนสุดท้าย นายพงษภัทร์ หลักรอด (พลับ) นักเรียนชั้นปีที่ 3 เล่าว่า “ผมทำงานเกี่ยวกับ programming รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ตอนที่รู้สึกทรมานมากก็คือตอนที่รันโค้ดไม่ผ่านสักที แต่ทีมผมก็ทำจนผ่านมาได้ ตอนแรกสมัครเข้าโครงการเพราะว่าเพื่อนชวน แต่พอเข้ามารู้ว่าให้สร้าง payload ของ KNACKSAT2 ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำและอยากเป็นส่วนหนึ่งของทีม คงจะเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ดาวเทียมของไทย ส่วนตัวแล้วผมรู้สึกมีความสุขมากกับการทำงานในโครงการนี้” พลับ กล่าวนเตรียมวิศวะฯ ให้เป็นผู้ดูแลนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จากการที่ผมได้สัมผัสกับนักเรียนทั้งหมด 22 คน นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ทุกคนมีความพยายามที่ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างดาวเทียม ซึ่งตลอดเวลา 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะมีบางครั้งที่นักเรียนจะท้อ หรือเครียดกันบ้าง แต่ทางทีมอาจารย์ผู้ให้ความรู้ และทีมอาจารย์โรงเรียนเตรียมวิศวะฯ ก็ใช้เวลาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาและร่วมกันหาทางออก เพื่อให้งานดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น ฝากช่วยติดตามโครงการ KNACKSAT-2 TGPS และเป็นกำลังใจให้เด็กนักเรียนของเราด้วยนะครับ ผมเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเด็กไทยที่เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” อาจารย์พิชัย กล่าว