มจพ. จัดโครงการการฝึกอบรมการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย
(R Training: Safe Use and Handling of Flammable Refrigerants)

รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. เป็นประธานเปิด โครงการอบรมเรื่อง การฝึกอบรมการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย (R Training: Safe Use and Handling of Flammable Refrigerants) วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้พัฒนาหลักสูตรและบริหารจัดการงานฝึกอบรมให้กับช่างเทคนิคและบุคคลที่สนใจให้ได้เข้ารับการฝึกอบรมได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มจำนวนให้ช่างเทคนิคให้เพียงพอกับผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาสู่ท้องตลาด โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ดำเนินการผลักดันให้ใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ภายใต้โครงการ Thailand RAC NAMA เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน และการฝึกอบรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถและเตรียมความพร้อมของช่างไทยร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นอย่างถูกต้องปลอดภัย ในการสนับสนุนของ RAC NAMA ของภาคผู้ประกอบการในปี 2563 – 2564 มีการผลิตผลิตภัณฑ์ของอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติกว่า 100,000 เครื่อง เริ่มเข้าสู่ตลาดให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ โดยสังเกตได้จากข้อมูลผลิตภัณฑ์ในส่วนสารทำความเย็น จะระบุเป็น R290 หรือ R 600a ในอนาคตผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะออกสู่ท้องตลาดมากขึ้นและทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมที่ใช้อยู่ สิ่งที่น่ากังวลคือช่างเทคนิคเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ ทั้งที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการและช่างเทคนิคอิสระ ยังไม่ทราบถึงองค์ความรู้ใหม่ในการจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากการกระจายความรู้ยังน้อยอยู่และยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดอย่างเป็นรูปธรรม การใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟกับเครื่องปรับอากาศ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการเสริมสร้างทักษะและส่งเสริมความรู้การใช้สารทำความเย็นได้อย่างปลอดภัย เตรียมความพร้อมของช่างเทคนิคให้มีความรู้และมีจำนวนที่เพียงพอรองรับการผลิตของผลิตภัณฑ์ที่กำลังออกมาสู่ตลาด จัดการอบรมโดย ทีมงานคณาจารย์ที่สอนวิชาปฏิบัติจากสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ (RAET) วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. โดยมี รศ.ดร. ฉัตรชาญ ทองจับ เป็นหัวหน้าโครงการ

ยวิษฐา/ข่าว,ภาพ